Archive for the ‘ตะกู’ Category

ลักษณะของต้นตะกู

ตะกูตะกูเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น เปลือกแตกเป็นร่องละเอียดตามยาว สีออกเทาปนน้ำตาล

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามเป็นคู่ รูปไข่ กว้าง 7.5-17.5 ซม. ยาว 20 ซม. หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม แผ่นใบด้านบนมีขนสาก ๆ และมีสีเข้ม ส่วนท้องใบจะมีขนสั้น ๆ แทบมองไม่เห็นแต่สัมผัสนุ่มมืออยู่ด้านล่าง เนื้อใบค่อนข้างหนา ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบป้าน เส้นแขนงใบมี
7-14 คู่ เห็นชัดทั้งสองด้าน และใบจะหลุดร่วงไปเองเมื่อแก

ดอกตะกูมีขนาดเล็กติดกันแน่นอยู่บนช่อดอกแบบ Head สีขาวปนเหลืองหรือสีส้มมีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อกระจุกแน่น ลักษณะกลมเดี่ยว ไม่เกิน 2 ช่อ อยู่ตามปลายกิ่งขนาด 4-5 ซม. ดอกเล็กอัดกันแน่น กลีบรองดอกเป็นหลอดสั้น กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ปลายกลีบหยักมนและแผ่ออกเล็กน้อยตะกูเป็นไม้ที่ออกดอกเมื่ออายุยังน้อย พบว่าเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 4 ปี สำหรับต้นที่โตเต็มที่แล้วจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือน มิถุนายน-กันยายน หลังจากนั้นผลจะแก่ในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม

ผลตะกู เป็นผลรวมอุ้มน้ำ เกิดจาก วงกลีบรองดอกของแต่ละดอกเชื่อมติดกันโดยเรียงกันแน่นเป็นก้อนกลมอยู่บนช่อ ดอก เรียกผลแบบนี้ว่า Fruiting Head มีขนาดความโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-6 ซม

ไม้ตะกูอยู่ในวงศ์ Rubiaceae ไม้ตะกูเป็นไม้เบิกนำที่เจริญเติบโตได้เร็วมากชนิดหนึ่ง ขึ้นเป็นกลุ่มเป็นก้อน ในพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นไร่ร้าง เป็นไม้ที่มีวัยตัดฟันสั้น สามารถขึ้นได้ในสิ่งแวดล้อมหลายสภาพ ความสามารถในการแตกหน่อสูง หลังจากตัดต้นทิ้งสามารถแตกหน่อขึ้นจากตอได้ถึง 1-4 หน่อ มีปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงทำลายน้อย
เนื้อไม้สามารถนำไปใช้เป็นไม้แปรรูปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทำเยื่อและกระดาษ ไม้บาง ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ติเคิลบอร์ด เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ไม้แบบ ไม้กระดาน ไม้หน้าสาม งานฝีมือ รูปแกะสลัก และใช้ในโรงงานทำไม้ขีดไฟได้ดี

ความเป็นมาของต้นตะกู

เบี้ยตะกูตะกูเป็นไม้ยืนต้นซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์จากประเทศไทยแล้ว เป็นไม้มงคล โบราณเชื่อว่าจะขึ้นเป็นคู่ๆ ในอาณาเขตบ้านของผู้มีบุญ

ปัจจุบันกรมป่าไม้จัดไม้ตะกูเป็นหนึ่งในไม้ป่ายืนต้นที่ปลูกทางด้านเศรษฐกิจของไทยอันดับที่ 21 (เป็น 1 ใน 60 ชนิด) เป็นไม้ที่เหมาะกับการปลูกป่าใหม่ที่ให้ผลเร็ว เป็นไม้โตเร็ว ลำต้นเปล่าตรงมีขนาดใหญ่ได้เนื้อไม้มาก ส่วนเสียน้อย ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ทดแทนไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้าม เจริญเติบโตช้า

เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณไม้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงต้องนำเข้าไม้แปรรูปจากต่างประเทศปีละกว่า 50,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลการค้าทุกปี การปลูกต้นตะกูจึงนับเป็นทางเลือกที่เหมาะสมของการปลูกป่าใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพทั้งทางสิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจของไทยได้เร็วที่สุด

ต้นตะกูอาจจะไม่คุ้นหู เพราะใกล้สูญพันธ์ในประเทศไทยแล้ว ต้นตะกูยังมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทนต่อความแห้งแล้ง ปลูกง่าย โตเร็ว เพียงแต่ช่วง1 – 3 เดือนต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอายุ 2 ปีขึ้นไปจะทนต่อสภาวะน้ำท่วมและโดนไฟป่าไม่ตาย ต้นตะกูเริ่มมีการปลูกบ้างแล้วในหลายพื้นที่ และน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกร หรือนักลงทุน ได้ไม่น้อยกว่า ไม้สัก ยางพารา หรือยูคาลิปตัส

ไม้ตะกูพบในประเทศอินเดีย เนปาล ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ศรีลังกา จีน ภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ฯลฯ ไม้ชนิดนี้เชื่อว่าเป็นไม้ที่มีขอบเขตการกระจายพันธุ์กว้างชนิดหนึ่ง โดยกระจายพันธุ์จากเนปาลและอัสสัมมาทางทิศตะวันออกจนถึงแถบอินโดจีน และกระจายพันธุ์ลงไปทางใต้แถบมาเลเซีย อินโดนีเซีย จนกระทั่งถึงหมู่เกาะนิวกินี สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ที่ราบริมทะเลไปจนถึงระดับความสูง 1,500 เมตร ปริมาณน้ำฝนรายปี 1,000-5,000 มิลลิเมตร

ในประเทศไทยตะกูมีการกระจายพันธุ์แทบทุกภาคของประเทศ โดยพบที่ เชียงราย ชียงใหม่ ลำปาง ตาก แพร่ กำแพงเพชร อุทัยธานี เลย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ตรัง สตูล และภูเก็ต โดยมักพบขึ้นเป็นกลุ่มล้วน ๆ ในป่าดั้งเดิมที่ถูกแผ้วถางแล้วปล่อยทิ้งร้างไว้ หรือสองข้างทางรถยนต์ที่ตัดผ่านป่าที่ค่อนข้างชุ่มชื้น เช่นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง เป็นต้น